ประกัน เป็นวิธีบริหารความเสี่ยงยอดนิยม แต่คุณรู้ไหมว่า หนึ่งในปัญหาที่เจอกันมากที่สุดของคนมีประกัน คือ ไม่รู้รายละเอียดของประกันอย่างเพียงพอ กลายเป็นว่าพอเกิดเหตุขึ้นมาจริงๆ ดันคุ้มครองเล็กน้อย ลงเอยที่ต้องรับผิดชอบค่าเสียหายส่วนใหญ่ซะเอง ซึ่งอาจเป็นเงินก้อนใหญ่ ทำให้ต้องไปกู้หนี้ยืมสินจนขาดสภาพคล่องได้
ดังนั้น การมีประกัน ไม่ใช่แค่ “พอมี” แต่ต้อง “มีพอ” ไม่มากจนเกินไป และที่สำคัญ ต้องมี “หลักคิด” โดยพิจารณาจาก “ความเสี่ยง” ที่จะเกิดขึ้นในแต่ละช่วงวัย พร้อมแนวทางป้องกัน
มาดูกันครับว่าวัยไหน เสี่ยงอะไร และควรป้องกันยังไงบ้าง
👶🏻 วัยเด็ก & วัยรุ่น
วัยนี้จะเสี่ยงเรื่องเจ็บป่วยและอุบัติเหตุครับ เพราะเด็กยังมีภูมิต้านทานไม่แข็งแรงพอ และเมื่อไปถึงวัยที่เริ่มวิ่งได้ ไปจนถึงช่วงวัยรุ่น จะเสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุมากขึ้น เพราะมีกิจกรรมผาดโผนเยอะ ดังนั้นควรมีประกันสุขภาพ และประกันอุบัติเหตุเอาไว้ ก็จะช่วยแบ่งเบาภาระค่ารักษาพยาบาลได้ดีมาก
👩🏻 วัยทำงาน (โสด)
พอเรียนจบและเริ่มทำงาน วัยนี้ก็จะมีความเสี่ยงเพิ่มขึ้นมา เริ่มแรก ควรมีประกันสุขภาพและประกันอุบัติเหตุเอาไว้ ซึ่งสามารถเริ่มเช็คจากสวัสดิการพื้นฐานของตัวเองก่อนได้ เช่น ประกันสังคม หรือ ประกันสุขภาพของบริษัท
ถ้าเช็คดูแล้วสวัสดิการที่คุณมี มันครอบคลุมไม่พอ ก็สามารถซื้อประกันสุขภาพหรือประกันโรคร้ายแรงเพิ่มได้ แต่ควรเช็คให้ละเอียดในเรื่องรูปแบบความคุ้มครอง ค่าใช้จ่าย การต่อระยะเวลาคุ้มครอง และการยกเว้นความคุ้มครองด้วย
หากคุณเป็นโสดที่มีคนต้องดูแล เช่น พ่อแม่ พี่น้อง ก็ควรทำประกันชีวิตเอาไว้ด้วย เผื่อเหตุร้ายแรงที่สุดเกิดขึ้น เช่น คุณเสียชีวิต หรือทุพพลภาพ จะได้ไม่กระทบคนข้างหลัง
ส่วนใครที่มีทรัพย์สิน ก็ควรมีประกันไว้ เช่น ประกันอัคคีภัยสำหรับบ้าน ประกันรถ เพราะพวกนี้ถ้าเกิดเรื่องร้ายๆ ขึ้นมาสักครั้ง น้ำตาไหลไม่พอ เงินก็ไหลหายไปเช่นกันครับ
และที่สำคัญ! ต้องมีเงินเก็บสำรองฉุกเฉินไว้ 6 เดือน เผื่อความเสี่ยงต้องตกงานหรือขาดรายได้กระทันหัน จะได้มีเงินใช้ไปก่อนครับ
👩👩👧 วัยทำงาน (แต่งงานหรือมีลูก)
จุดนี้เราก็จะไม่ได้ตัวคนเดียวแล้ว นอกจากประกันด้านสุขภาพและทรัพย์สิน ควรเน้นไปที่ประกันชีวิต เพื่อป้องกันความเสี่ยง ในกรณีที่เราเกิดจากไปก่อนวัยอันควร จะได้ไม่กระทบกับชีวิตที่เหลือในครอบครัว โดยเฉพาะถ้าเราเป็นหัวเรี่ยวหัวแรงในการหาเงิน
ประกันชีวิตมีหลายแบบ เลือกได้ตามความเหมาะสมของตัวเอง ตั้งแต่ประกันตลอดชีพ เน้นคุ้มครองยาว ได้เงินประกันเมื่อเสียชีวิตหรืออายุ 90 ปี (แล้วแต่กรมธรรม์) เบี้ยประกันจะค่อนข้างถูก เหมาะกับการจัดการภาระเมื่อเสียชีวิตหรือเป็นมรดกแก่คนข้างหลัง หรือจะเป็นประกันชีวิตแบบชั่วระยะเวลา ที่จะคุ้มครองตามเวลาที่เรากำหนด (เช่น 1 ปี 5 ปี หรือ 20 ปี แล้วแต่กรมธรรม์)
เช่นเดียวกัน เงินสำรองฉุกเฉิน 6 เดือน ก็ยังต้องมีไว้อยู่นะครับ เพราะวัยนี้ความเสี่ยงตกงาน หรือโดนเลิกจ้างมีมากกว่าวัยเริ่มทำงานเสียอีก
👵🏼 วัยเกษียณ
เป็นวัยที่ไม่มีภาระอะไรแล้ว แต่ในวัยนี้จะเสี่ยงต่อการเจ็บป่วย เช่น โรคทางสมอง ตา ไต หัวใจ ทางเดินปัสสาวะ จึงจำเป็นมากที่ต้องมีประกันสุขภาพที่ครอบคลุมโรคร้ายแรงไว้ เพราะค่ารักษาพยาบาลเยอะแน่นอน นอกจากนี้ยังเสี่ยงในเรื่องของอุบัติเหตุ เช่น ลื่นล้มจนหัวแตกหรือสะโพกหัก แถมอาจลามไปถึงสมองกระทบกระเทือน ประกันอุบัติเหตุจึงเป็นสิ่งควรมีเช่นกัน
นอกจากนี้ ก็ควรมีประกันชีวิตแบบตลอดชีพ กรณีที่อยากส่งต่อมรดกให้ลูกหลาน แต่ถ้าสุขภาพไม่ดีเท่าไหร่ ไม่สามารถทำประกันชีวิตทั่วไปได้ ประกันชีวิตผู้สูงอายุ ก็เป็นตัวเลือกที่แทนกันได้