ธนาคารกลางแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน (People’s Bank of China) ประกาศนำร่องทดลองใช้เงินหยวนดิจิตัลครั้งแรกใน 4 เมืองกระจายใน 4 ภูมิภาคเมื่อเดือนเมษายน 2020 และทำให้จีนกลายเป็นประเทศแรกในโลกที่นำเสนอเงินดิจิตัลที่ออกโดยแบ้งค์ชาติของตนเอง
ต่อมา เมื่อวันที่ 12 สิงหาคม ที่ผ่านมา กระทรวงพาณิชย์จีนได้ขยายกระแสความนิยมดังกล่าวด้วยการประกาศเดินหน้าสู่ระยะที่ 2 ของโครงการ โดยขยายขอบข่ายการทดลองใช้เงินหยวนดิจิตัลใน 3 พื้นที่เศรษฐกิจสำคัญด้านซีกตะวันออกของจีน และในหลากรูปแบบมากขึ้นอย่างรวดเร็ว
กิจกรรมหนึ่งที่สร้างความฮือฮาในช่วงไม่กี่วันหลังจากที่ท่านประธานาธิบดีสี จิ้นผิงเยือนเมืองเฉาโจว (Chaozhou) มณฑลกวางตุ้ง (Guangdong) เพื่อฉลอง 40 ปีของการจัดตั้งเขตเศรษฐกิจพิเศษ (Special Economic Zone) ก็ได้แก่ การแจก “อี-อั่งเปา” ในรูปเงินหยวนดิจิตัลให้แก่พี่น้องชาวจีน
ตามแผนเดิมระบุว่า กิจกรรมนี้แจกอี-อั่งเปามูลค่า 200 หยวนต่อซองแก่ประชากรจำนวน 50,000 คนเพื่อจับจ่ายผ่านจุดรับชำระเงินจำนวน 3,800 แห่งในเขตหลัวหู (Luohu) เมืองเซินเจิ้น (Shenzhen) เพื่อเพิ่มประสบการณ์การใช้เงินหยวนดิจิตัล และเป็นส่วนหนึ่งในความพยายามที่จะเพิ่มความแข็งแกร่งและการพัฒนาในเชิงคุณภาพภายในปี 2025 รวมทั้งยังใช้โอกาสนี้อัดเงินเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจเพื่อกระตุ้นการบริโภคภายในประเทศไปพร้อมกัน ซึ่งพอถึงวันปิดรับสมัครปรากฏว่า มีชาวจีนในพื้นที่เกือบ 2 ล้านคนสมัครเข้าชิงโชคขอรับซองแดงออนไลน์ดังกล่าว
ภายหลังการดำเนินกิจกรรมดังกล่าว รัฐบาลเซินเจิ้นได้เปิดเผยว่า กิจกรรมนี้ในช่วงหนึ่งสัปดาห์มี “ผู้โชคดี” จำนวนทั้งสิ้น 47,573 ราย นำไปสู่การทดลองชำระเงินออนไลน์ 62,788 ธุรกรรมผ่านร้านค้าปลีก 3,389 แห่ง คิดเป็นมูลค่ารวม 8.8 ล้านหยวน ซึ่งนับเป็นการทดลองใช้เงินหยวนดิจิตัลครั้งใหญ่สุดในประวัติศาสตร์ที่ผ่านมา
ฟาน อี้เฟย (Fan Yifei) รองผู้ว่าการแบ้งค์ชาติจีนให้ข้อมูลว่า ก่อนการเริ่มกิจกรรมแจกอั่งเปาออนไลน์ดังกล่าว การทดลองใช้เงินหยวนดิจิตัลในจีนโดยรวมมีจำนวนธุรกรรมกว่า 1.3 ล้านครั้ง มูลค่ารวมมากกว่า 1,100 ล้านหยวน กิจกรรมนี้จึงเพิ่มระดับการใช้เงินหยวนดิจิตัลจากเดิมราว 4.8% ในสัปดาห์เดียว
หนึ่งในผู้โชคดีเล่าผ่านเหว่ยปั๋ว (Weibo) ถึงบรรยากาศในช่วงสัปดาห์ของการดำเนินกิจกรรมนั้นว่า “ฉันได้รับข้อความออนไลน์ทุกวันกระตุ้นให้ออกไปใช้เงินหยวนดิจิตัลที่ได้รับจากซองแดงออนไลน์กับร้านค้าที่กำหนดก่อนสิ้นสุดช่วงเวลาทดลอง สุดท้ายฉันเลยใช้เงิน 200 หยวนที่ได้รับมาในห้างสรรพสินค้า …”
ขณะที่นักวิชาการและผู้ใช้จำนวนมาก รวมทั้งร้านค้าปลีกหลายแห่งให้ความเห็นผ่านเหว่ยปั๋วว่า การชำระเงินหยวนดิจิตัลผ่านแอ๊พดังกล่าวไม่แตกต่างจากแอ๊พของวีแชตเพย์ (WeChat Pay) และอาลีเพย์ (Alipay) มากนัก แต่ส่วนใหญ่รู้สึกว่าการใช้เงินหยวนดิจิตัลน่าเชื่อถือและปลอดภัยกว่ามาก แถมยังไม่ต้องเสียค่าธรรมเนียมในการโอนเงิน และใช้ได้แม้ในยามที่ไม่มีสัญญาณอินเตอร์เน็ตอีกด้วย
นอกจากนี้ หนังสือพิมพ์ 21st Century Business Herald ซึ่งเป็นของรัฐยังเปิดเผยว่า วงเงินเครดิตจำนวน 901,000 หยวนยังถูกโอนเข้าแอ๊พเงินหยวนดิจิตัล (Digital Renminbi App) เพื่อให้ผู้โชคดีสามารถใช้เงินพิเศษที่เหลืออยู่ในร้านค้าที่กำหนดหลังพ้นระยะเวลาทดลองดังกล่าว
ในบรรดาจุดรับชำระเงินในพื้นที่ดังกล่าวนั้น จำนวนราว 110 แห่งเป็นสถานีบริการน้ำมัน ขณะที่ผู้โชคดีบางส่วนวางแผนจะไปใช้บริการในร้านอาหารชื่อดังที่เข้าร่วมโครงการ จึงคาดว่าจะเห็นผู้ใช้บริการในร้านค้าปลีกที่เข้าร่วมโครงการเพิ่มขึ้นอย่างหนาตาต่อไปจนถึงช่วงปลายเดือนตุลาคม
ล่าสุดเมื่อวันที่ 23 ตุลาคม ที่ผ่านมา แบ้งค์ชาติจีนเตรียมนำเสนอร่างกฎหมายรับรอง “ระบบการชำระเงินทางอิเล็กทรอนิกส์” (Digital Currency Electronic Payment System) อย่างเป็นทางการ ซึ่งนั่นหมายความว่า เงินหยวนดิจิตัลกำลังจะมีสถานะทางกฎหมายในจีน ผู้คนทั่วไปในจีนกำลังจะสามารถใช้เงินหยวนดิจิตัลแทนการใช้ธนบัตรและเหรียญได้ในวงกว้างแล้ว
ฉางชุน มู่ (Changchun Mu) ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยเงินหยวนดิจิตัล (Digital Currency Research Institute) องค์กรภายใต้แบ้งค์ชาติจีน ซึ่งทำหน้าที่ศึกษาความเป็นไปได้และความเหมาะสมในการมีเงินหยวนดิจิตัลตั้งแต่ระยะแรกเมื่อหลายปีก่อน ก็ให้สัมภาษณ์ต่อมาภายหลังการประชุมสุดยอดเดอะบันด์ (The Bund Summit) ร่วมกับเจ้าหน้าที่ของรัฐ ผู้เชี่ยวชาญทางการเงิน และนักวิชาการที่เกี่ยวข้อง เพื่อหารือเกี่ยวกับการเปลี่ยนโครงสร้างเศรษฐกิจโลกและการเปิดกว้างทางการเงินของจีน เป็นระยะเวลา 2 วัน ณ นครเซี่ยงไฮ้ว่า “เงินหยวนดิจิตัลจะได้รับอนุญาตให้หมุนเวียนใช้และแลกเปลี่ยนกับเงินหยวนทางกายภาพได้”
เท่านั้นไม่พอ สาระสำคัญหนึ่งของร่างกฎหมายดังกล่าวยังครอบคลุมถึงประเด็นการห้ามมิให้บุคคลอื่นทำเงินหยวนดิจิตัลในรูปแบบอื่นใดในจีนอีกด้วย ซึ่งนำไปสู่คำถามสำคัญว่า แล้วอาลีเพย์ และวีแชตเพย์ที่ครองตลาดการโอนเงินออนไลน์ในจีน จะถูกห้ามใช้หรือไม่ หรือขัดแย้งหรือสอดคล้องกับเงินหยวนดิจิตัลหรือไม่ อย่างไร
ประเด็นนี้ได้รับคำชี้แจงจากท่านผู้อำนวยการสถาบันฯ ว่า ร่างกฎหมายดังกล่าวมิได้ห้าม 2 ค่ายยักษ์ในการให้บริการโอนเงินออนไลน์แต่อย่างใด เพราะบริการดังกล่าวทำหน้าที่เป็นโครงสร้างพื้นฐานทางการเงิน หรือเป็นเสมือน “กระเป๋าตังค์ออนไลน์” ขณะที่ DCEP เป็นเครื่องมือการชำระเงิน หรือเงินออนไลน์ในกระเป๋าตังค์ สองส่วนนี้จึงเสริมส่งกันและกัน ไม่ใช่คู่แข่งขันระหว่างกัน
แต่สาระสำคัญคงมุ่งเป้าไปที่การห้ามหรือบีบให้เงินคริปโต (Cryptocurrency) หรือเงินดิจิตัลสกุลอื่น เช่น ลิบรา (Libra) ของค่ายเฟสบุ๊ก (Facebook) และเงินดิจิตัลอื่นของต่างชาติ จะไม่มีที่ยืนในจีนซะมากกว่า
เมื่อถามถึงประเด็นความขัดแย้งกับหลักการตีพิมพ์ธนบัตรของกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (International Monetary Fund) ก็ได้รับคำตอบว่า เงินหยวนดิจิตัลมิได้บั่นทอนสิทธิและความน่าเชื่อถือในการตีพิมพ์เงินหยวนแต่อย่างใด
ในเรื่องนี้ รัฐบาลจีนค่อนข้างชัดเจนแต่เริ่มต้นว่า เป้าหมายหลักในการใช้เงินหยวนดิจิตัลก็เพื่อต้องการใช้ทดแทนเงินสด รักษาความสามารถในการควบคุมของภาครัฐต่อการใช้เงินหยวน และสร้างเวทีการใช้เงินหยวนดิจิตัลกับการค้าปลีกให้มากที่สุดเท่าที่จะเป็นได้ รวมทั้งจะขยายการใช้เงินหยวนดิจิตัลสู่ต่างประเทศในอนาคต
อย่างไรก็ดี ผลจากการทดลองใช้เงินหยวนดิจิตัลในช่วงที่ผ่านมา ยังมีจุดอ่อนบางประเด็น โดยเฉพาะอย่างยิ่งการแลกเปลี่ยน ความเป็นส่วนตัว และความปลอดภัย
แบ้งค์ชาติจีนกังวลใจว่าความเสี่ยงในการใช้เงินดังกล่าวอาจเกิดขึ้นกับคนในบางกลุ่ม เช่น ผู้สูงอายุที่ขาดความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับเรื่องนี้ หรือไม่ได้ใช้สมาร์ตโฟน รวมทั้งปัญหาที่เกิดขึ้นจากกระเป๋าตังค์ออนไลน์ปลอม
ในประเด็นนี้ แบ้งค์ชาติจีนจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องเร่งกำหนดเกณฑ์ด้านเทคโนโลยีที่เป็นหนึ่งเดียว ควบคู่ไปกับการยกระดับมาตรฐานด้านความปลอดภัย มาตรการด้านธุรกิจ และโครงสร้างพื้นฐานทางการเงิน (เช่น กระเป๋าตังค์ออนไลน์) เพื่อให้มั่นใจถึงการเชื่อมโยงระหว่างภาคส่วนที่เกี่ยวข้องให้เป็นไปอย่างราบรื่นไร้รอยต่อ
เหล่านี้ล้วนเป็น “การบ้าน” ที่แบ้งค์ชาติจะต้องทำงานอย่างหนักเพื่อแก้ไขปัญหาและข้อจำกัดดังกล่าวควบคู่ไปกับความพยายามในการลดต้นทุนค่าใช้จ่ายในการดำเนินโครงการ ซึ่งคาดว่าเราจะเห็นการปรับปรุงและพัฒนาสิ่งเหล่านี้ในระยะถัดไปของการทดสอบโครงการในจีน
แม้ว่าเงินหยวนทางกายภาพและเงินหยวนดิจิตัลจะถูกใช้ร่วมกันในสังคมจีนไปอีกระยะหนึ่ง แต่การใช้ธนบัตรและเหรียญในการชำระเงินมีแนวโน้มที่จะถูกใช้ลดลง และกำลังจะกลาย “ของแปลก” สวนทางกลับของการใช้เงินหยวนดิจิตัลที่จะกลายเป็นส่วนหนึ่งของวิถีชีวิตของผู้คนในจีนอย่างรวดเร็ว
จีนกำลังเดินหน้าสู่ “สังคมไร้เงินสด” มากขึ้นทุกขณะ ท่านผู้อ่านมีโอกาสเดินทางไปเยือนจีนในคราวหน้าก็อย่าลืมทดลองใช้เงินหยวนดิจิตัลกันนะครับ …