นวัตกรรมคือคำตอบในยุคแห่งความเรืองรองของจีน

Must read

ขณะที่วัยรุ่นไทยและอีกหลายประเทศทั่วโลกกำลังคลั่งไคล้และเรียนรู้โลกธุรกิจใหม่ทางอ้อมจากซีรีย์ “สตาร์ตอัพ” ของเกาหลีใต้ที่แพร่ภาพอยู่ในเน็ตฟลิกซ์ (Netflix) รัฐบาลจีนก็ส่งสัญญาณชัดเจนถึงความพยายามในการเร่งสร้างและพัฒนาสตาร์ตอัพของจีนเช่นกัน

แม้ว่าปีนี้จีนต้องเผชิญกับวิกฤติโควิด-19 แต่สิ่งที่จีนได้ดำเนินการในช่วงหลายเดือนที่ผ่านมา กลับแสดงให้เห็นถึงการให้ความสำคัญและการใช้ประโยชน์จากนวัตกรรมและเทคโนโลยีที่พัฒนาขึ้น อาทิ ตู้จำหน่ายหน้ากากและเวชภัณฑ์ทางการแพทย์อัตโนมัติ หุ่นยนต์ รถไร้คนขับ และโดรนเพื่อสนับสนุนการป้องกันและรักษาการแพร่กระจายของเชื้อโรค แท๊กซี่ไร้คนขับ และเงินหยวนดิจิตัล

ในช่วงต้นปี 2020 ดัชนีนวัตกรรมบลูมเบิร์ก (Bloomberg Innovation Index) ระบุว่า จีนก้าวขึ้นมาอยู่ลำดับที่ 15 ของโลก โดยก้าวกระโดดจากลำดับที่ 41 ในปี 2010 หรือเพิ่มขึ้นถึง 25 ลำดับในช่วงราวหนึ่งทศวรรษ

ที่น่าสนใจยิ่งกว่าคือ ทันทีที่ผลดังกล่าวถูกประกาศออกมา รัฐบาลจีนก็ตั้งเป้าหมายใหญ่ที่จะก้าวขึ้นเป็นอันดับหนึ่งของโลกภายในปี 2030 ซึ่งทำให้ผมอดนึกถึงวลีอมตะที่ว่า “รู้เขา รู้เรา รบร้อยครั้ง ชนะร้อยครั้ง” ไม่ได้จริงๆ เพราะไม่เพียงแต่จีนรู้ดีว่าประเทศอื่นพัฒนานวัตกรรมเร็วขนาดไหน แต่จีนต้องพัฒนาเร็วเพียงใดจึงแซงประเทศอื่นขึ้นเป็นเบอร์หนึ่งของโลก

นอกจากนี้ นับแต่เดือนกันยายนเป็นต้นมา ผมยังสังเกตเห็นผู้บริหารระดับสูงของรัฐบาลจีนเดินสายเยี่ยมชมและกล่าวในหลายเวทีถึงแนวทางและความมุ่งมั่นตั้งใจของรัฐบาลจีนที่จะสร้างความแข็งแกร่งของธุรกิจสตาร์ตอัพของจีน โดยภายใต้แนวคิดของผู้บริหารจีนระบุว่าจะอาศัยเทคโนโลยีและนวัตกรรมเป็นกลไกหลักในการพัฒนา

ข่าวการเยือนเมืองเซินเจิ้น และเฉาโจวของคณะผู้บริหารระดับสูงของจีนนำโดยท่านประธานาธิบดีสี จิ้นผิงในช่วงครึ่งแรกของเดือนตุลาคมที่ผ่านมา นับว่าเป็นตัวอย่างที่ดีในเรื่องนี้ 

ท่านผู้นำได้ตอกย้ำถึงความสำคัญของนวัตกรรมหลังการเยือนผู้ผลิตชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์แห่งหนึ่งไว้อย่างน่าสนใจว่า “นวัตกรรมอิสระเป็นกุญแจแห่งการเติบโตของบริษัท การยกระดับอุตสาหกรรม และการพัฒนาเศรษฐกิจคุณภาพสูง” 

จุดยืนในเรื่องนี้ของจีนเด่นชัดยิ่งขึ้นเมื่อที่ประชุมคณะกรรมการกลางพรรคคอมมิวนิสต์ เห็นชอบกับร่างแผนพัฒนา 5 ปีฉบับที่ 14 เมื่อสิ้นเดือนตุลาคม ที่ผ่านมา ซึ่งระบุว่าจีนจะส่งเสริมการพัฒนาขีดความสามารถด้านนวัตกรรม โดยมุ่งหวังที่จะนำเอานวัตกรรมไปใช้ในการผลักดันสู่ภาคการผลิตที่ทันสมัย และดำเนินกลยุทธ์ที่ใช้นวัตกรรมเป็นตัวขับเคลื่อนและยกระดับโครงสร้างเศรษฐกิจ

“นวัตกรรมจะขับเคลื่อนและยกระดับให้อุตสาหกรรมการผลิตของจีนเป็นส่วนหนึ่งของห่วงโซ่แห่งคุณค่าของโลก ควบคู่ไปกับการสร้างเชื่อมั่นด้านอุปทานภายในประเทศในเชิงยุทธ์”

มาถึงจุดนี้ ผู้อ่านหลายท่านอาจไม่มั่นใจในความต่อเนื่องของการดำเนินงานจากแผน 13 ซึ่งเป็นเสมือนครึ่งแรกของนโยบาย Made in China 2025 เชื่อมต่อไปยังแผน 14 ซึ่งเป็นช่วงครึ่งหลังของนโยบายดังกล่าว และอาจแปลกใจเมื่อทราบว่า แผน 14 ยังจะวางรากฐานและกำหนดเป้าหมายระยะไกลไปถึงปี 2035 หรือสิ้นสุดแผน 16 ใน 15 ปีข้างหน้า 

แต่สำหรับผมแล้ว กลับไม่รู้สึกกังวลใจในความต่อเนื่องดังกล่าวแต่อย่างใด เพราะสำหรับรัฐบาลจีน การ “สานต่อ” และ “ต่อยอด” การดำเนินงานตามนโยบายและแผนงานที่ดีจากยุคสู่ยุคอย่างเนียนตาและสร้างสรรค์ถือเป็น “หน้าที่” ที่พึงปฏิบัติ 

ขณะเดียวกัน การใช้องคาภยพทั้งของภาครัฐและเอกชนของจีนในการผลักดันการพัฒนาอย่างจริงจังและต่อเนื่องเพื่อให้เกิดเป็นรูปธรรมตามแผนที่กำหนดไว้ อาจหาได้ยากในประเทศอื่น เหล่านี้อาจเป็นเหตุผลที่ช่วยอธิบายได้ว่าทำไมเศรษฐกิจจีนจึงสามารถเติบโตได้อย่างก้าวกระโดดในช่วงหลายทศวรรษที่ผ่านมา

และเพียงไม่นานหลังการแถลงข่าวผลการประชุมคณะกรรมการกลางพรรคฯ เกี่ยวกับแผน 14 เมืองชั้นแนวหน้าของจีนต่างเร่งบรรจุเรื่องนวัตกรรมเข้าเป็นส่วนสำคัญของแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม 5 ปีเพื่อให้สอดรับกับแผนของประเทศ 

นครเซี่ยงไฮ้ถือเป็นตัวอย่างที่ดีดังกล่าว รัฐบาลของเซี่ยงไฮ้ได้แถลงข่าวตอกย้ำในหลายเวทีว่าเทคโนโลยีเป็นเครื่องยนต์ใหม่ที่ใช้ในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ และพยายามผันตัวเองไปสู่การเป็นศูนย์นวัตกรรมด้านเทคโนโลยีของจีนในอนาคตอันใกล้ และไปสู่ของโลกในระยะไกล

รัฐบาลเซี่ยงไฮ้ได้ดำเนินการส่งเสริมการเพิ่มการลงทุนในวิทยาศาสตร์ขั้นพื้นฐานและพัฒนาความแข็งแกร่งของธุรกิจที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะอย่างยิ่งอิเล็กทรอนิกส์ขนาดจิ๋ว (Microelectronics) ประสาทวิทยา (Neuroscience) ปัญญาประดิษฐ์ หุ่นยนต์ และวัสดุใหม่ ผ่านมาตรการการเงินการคลังมากมาย อาทิ สินเชื่ออัตราดอกเบี้ยต่ำ การยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล และการจัดสรรพื้นที่อาคารและสถานที่ทำงานในราคาค่าเช่าพิเศษ

มาตรการความช่วยเหลือยังครอบคลุมถึงการสนับสนุนส่งเสริมการเตรียมธุรกิจเข้าสู่ “ทางลัด” ในการเข้าไปลิสต์ในตลาดหลักทรัพย์เซี่ยงไฮ้ ผ่านตลาดสตาร์ (Star Market) ซึ่งเป็นตลาดหลักทรัพย์สำหรับธุรกิจด้านเทคโนโลยีที่ผู้นำจีนผลักดันให้เปิดขึ้นเมื่อกลางปี 2019 ณ นครเซี่ยงไฮ้

ในชั้นนี้ รัฐบาลเซี่ยงไฮ้ยังได้คัดเลือกสตาร์ตอัพเป้าหมายที่มีขีดความสามารถด้านนวัตกรรมและเทคโนโลยี และศักยภาพในเชิงพาณิชย์จำนวน 1,000 รายที่จะลิสต์ในตลาดสตาร์ในอนาคต ในจำนวนนี้ ราว 20% เป็นกิจการของเซี่ยงไฮ้ ที่เหลือเป็นกิจการที่จดทะเบียนนิติบุคคลในเมืองอื่น นั่นเป็นสัญญาณว่า ตลาดสตาร์จะมีบทบาทมากขึ้นในการช่วยผลักดันให้เซี่ยงไฮ้ขยับสู่การเป็นศูนย์กลางฯ ดังกล่าวในอนาคต

นอกจากนี้ เซี่ยงไฮ้ยังมีความโดดเด่นในเรื่องสิ่งอำนวยความสะดวกที่ทันสมัยและมีความพร้อมในเรื่อง “คน” มากกว่าทุกเมืองในจีน โดยเซี่ยงไฮ้มีทรัพยากรมนุษย์ในอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องในสัดส่วนที่สูง เช่น สัดส่วนราว 2 ใน 5 ของทั้งหมดในอุตสาหกรรมแผงวงจรรวม 1 ใน 3 ในด้านปัญญาประดิษฐ์ และ 1 ใน 5 ของอุตสาหกรรมยา 

ภายหลังการประชุมพิจารณาแผน 14 ดังกล่าว ผู้นำจีนยังได้เป็นประธานเปิดงานแสดงสินค้านำเข้าระหว่างประเทศประจำปี 2020 (2020 China International Import Expo) งานแสดงสินค้านำเข้าที่ใหญ่สุดในโลกเมื่อค่ำวันที่ 4 พฤศจิกายน ที่ผ่านมา โดยได้กล่าวผ่านระบบออนไลน์ว่า “ภาคการผลิตของจีนเป็นจิ๊กซอว์สำคัญยิ่งของภาคการผลิตและห่วงโซ่อุปทานโลก ขณะที่อุปสงค์ของตลาดจีนอันมหาศาลดังกล่าวจะสามารถปลดปล่อยศักยภาพด้านการนวัตกรรมได้อย่างไร้ขอบเขต”

นอกจากนี้ ภายในงานยังเต็มไปด้วยนวัตกรรมสินค้าและบริการของกิจการต่างชาติที่หลั่งไหลไปใช้เวทีงานแสดงสินค้าดังกล่าวในการนำเสนอสู่ตลาดจีน แน่นอนว่า ตลาดสินค้านำเข้าที่มีมูลค่าถึงปีละกว่า  2 ล้านล้านเหรียญสหรัฐฯ ย่อมเต็มไปด้วยความหอมหวลสำหรับกิจการต่างชาติ และดูเหมือนกลิ่นจะหอมตลบอบอวลและเย้ายวนจิตใจเพิ่มมากขึ้นในอนาคต

ราวหนึ่งสัปดาห์ต่อมา ท่านสี จิ้นผิงยังได้ส่งจดหมายแสดงความยินดีกับการริเริ่มการสัมมนาด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรมระหว่างประเทศขึ้นเป็นครั้งแรกภายใต้เวทีการประชุมโป๋วอ่าวฟอรั่มเพื่อเอเซีย (Boao Forum for Asia) หรือ “ดาวอสแห่งเอเซีย” (Asian Davos) ภายใต้แนวคิดหลักว่า “นวัตกรรมเพิ่มพลังการพัฒนาที่ยั่งยืน” ณ มาเก๊า 

ถ้อยคำท่อนหนึ่งของจดหมายดังกล่าวระบุว่า “จีนพร้อมที่จะทำงานร่วมมือกับนานาประเทศทั่วโลกในการเสริมสร้างนวัตกรรมและความร่วมมือด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี และผลักดันการเปิดกว้างของการแลกเปลี่ยนระหว่างประเทศบนพื้นฐานของการครอบคลุมถ้วนหน้าและผลประโยชน์ระหว่างกัน เพื่อส่งเสริมการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกและเป็นเกราะคุ้มกันด้านสุขภาพของประชาชน” 

แม้กระทั่งในการประชุมสุดยอดอาเซียนที่นำไปสู่การลงนามความตกลง RCEP เมื่อไม่กี่วันก่อน ผู้นำจีนก็ยังใช้เวลาส่วนหนึ่งกับการสื่อสารเรื่องนี้กับผู้นำของแต่ละประเทศสมาชิกอีกด้วย

คำถามที่ตามมาก็คือ แล้วรัฐบาลจีนเดินหน้าพัฒนานวัตกรรมด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีบนพื้นฐานอะไร จากการวิจัยพบว่า รัฐบาลจีนให้ความสำคัญกับหลักการ 3 ส่วน อันได้แก่ การตระหนักถึงความสำคัญในเชิงกลยุทธ์ของการเร่งนวัตกรรม การเร่งแก้ไขประเด็นวิกฤติที่ฉุดรั้งนวัตกรรมและการพัฒนา และการผลักดันอย่างเต็มที่ให้เกิดจิตวิญญาณของการเป็นนักวิทยาศาสตร์จีน

หากเรามองออกไปในระยะไกล ก็พอจะจินตนาการได้ว่า หากจีนสามารถสานต่อนโยบายและหลักการพัฒนาเศรษฐกิจด้วยนวัตกรรมและเทคโนโลยีของรัฐบาลจีนได้อย่างต่อเนื่องดังที่คาดการณ์ไว้ เราก็น่าจะได้เห็นสตาร์ตอัพจีนเติบใหญ่และก้าวขึ้นไปแข่งขันในเวทีระหว่างประเทศเพิ่มขึ้นได้หลายร้อยรายในช่วง 15 ปีข้างหน้า

ถึงวันนั้นเราอาจเห็นสตาร์ตอัพจีนก้าวขึ้นครองเวทีโลก โดยมีนวัตกรรมเป็นคำตอบสุดท้าย …

- Advertisement -spot_img

More articles

- Advertisement -

Latest article