ดร.ไพจิตร วิบูลย์ธนสาร
รองประธานและเลขาธิการหอการค้าไทยในจีน และอุปนายกและเลขาธิการ สมาคมส่งเสริมการลงทุนและการค้าไทย-จีน
ผ่านไปอย่างฉิวเฉียด … ทีแรกผมยังกังวลใจอยู่ว่า โควิด-19 จะขยายวงกลับไปรังควานจีนอีกรอบ แต่คราวนี้เป็นแฟนฟุตบอลพรีเมียร์ลีกอังกฤษในจีนเกือบจะกลายเป็น “แพะ” ที่พลาดการชมการถ่ายทอดสดในฤดูกาล 2020/2021
เพราะข่าวเมื่อต้นเดือนกันยายน ที่ผ่านมาระบุว่า English Premier League เจ้าของลิขสิทธิ์การถ่ายทอดสดการแข่งขันฟุตบอลลีกที่มีผู้คนติดตามชมมากที่สุดในโลก ไม่สามารถหาข้อสรุปกับพีพีทีวี (PPTV) กิจการในเครือของซูหนิง โฮลดิ้งส์ (Suning Holdings) เกี่ยวกับการชำระค่าลิขสิทธิ์มูลค่ากว่า 210 ล้านเหรียญสหรัฐฯ (ราว 6,600 ล้านบาท) ของฤดูกาลที่แล้วที่ค้างชำระตั้งแต่เดือนมีนาคม ที่ผ่านมาได้
ภายหลังการเจรจาอยู่หลายรอบได้ ในท้ายที่สุด EPL ก็ประกาศการยกเลิกสัญญา ซึ่งทำให้ EPL และ 20 สโมสรฟุตบอลที่เกี่ยวข้องเสี่ยงต่อการสูญเสียรายได้จำนวนมหาศาล เพราะสัญญาดังกล่าวนับว่ามีมูลค่ารายประเทศที่มากที่สุดในประวัติศาสตร์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งหาก EPL ไม่สามารถหาผู้ซื้อลิขสิทธิ์รายใหม่ในจีนได้ ปัญหาจะซ้ำเติมปัญหาทางการเงินที่มีอยู่เดิมเข้าไปอีก เพราะก่อนหน้านี้ EPL ก็โดนสถานีโทรทัศน์ทั้งในอังกฤษและต่างประเทศเรียกร้องเงินชดเชยการถ่ายทอดสดของฤดูกาลที่ผ่านมาที่หยุดชะงักไปในช่วงเดือนมีนาคม-มิถุนายน อันเนื่องจากพิษโควิด-19 คิดเป็นมูลค่ารวมราว 430 ล้านเหรียญสหรัฐฯ นอกจากนี้ การสูญเสียค่าลิขสิทธิ์จำนวนมหาศาลยังจะส่งผลกระทบลุกลามต่อไปถึงฤดูกาลใหม่ที่เปิดหัวไปเมื่อวันที่ 12 กันยายนอีกด้วย
ในด้านหนึ่ง หากไม่สามารถหาคู่สัญญาใหม่ได้ทันการณ์ EPL และ 20 สโมสรฟุตบอลที่เกี่ยวข้องจะสูญเสียรายได้จากค่าลิขสิทธิ์การถ่ายทอดสดจำนวนมหาศาล ซึ่งเดิมคาดว่าจะได้รับส่วนแบ่งสโมสรละกว่า 30 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ตลอดอายุสัญญา ขณะที่ช่วงเวลาที่กระชั้นชิดก็อาจทำให้อำนาจการต่อรองของ ELP ลดลง ซึ่งกดดันต่อการเจรจาเรื่องผลตอบแทนและเงื่อนไขอื่นกับคู่สัญญาในฤดูกาลใหม่
นอกจากนี้ ในฤดูกาลใหม่ใน ELP ก็คาดว่าจะสูญเสียรายได้จากค่าบัตรผ่านประตูและการจำหน่ายของที่ระลึกของสโมสร ซึ่งแน่นอนว่าก็จะกดดันสภาพคล่องของแต่ละสโมสรมากยิ่งขึ้นไปอีก (ขณะที่บางลีก เช่น บุนเดสลีกาของเยอรมนี ได้เปิดให้แฟนบอลเข้าไปเชียร์สดในสนามตั้งแต่นัดเปิดฤดูกาล)
ในอีกด้านหนึ่ง หากไม่มีการถ่ายทอดสดพรีเมียร์ลีกอังกฤษในจีนก็จะส่งผลให้ความนิยมของ EPL ในจีนลดทอนลง แถมหนึ่งในแฟนพรีเมียร์ลีกอังกฤษตัวยงก็ได้แก่ ท่านสี จิ้นผิง (Xi Jinping) ประธานาธิบดีของจีนที่ท่านเดวิด คาเมรอน (David Cameron) อดีตนายกรัฐมนตรีของอังกฤษ รู้ใจและพาไปเยือนสนามของแมนเชสเตอร์ซิตี้ (Manchester City) แชมป์แห่งฤดูกาลเมื่อเดือนตุลาคม 2015 ซึ่งถือเป็นช่วงเวลาของความสัมพันธ์ที่ชื่นมื่นระหว่างสองประเทศ
แน่นอนว่าสปอนเซอร์บนเสื้อและป้ายโฆษณาของสโมสรที่มีจีนเป็นตลาดเป้าหมายหลักก็อาจถอนตัว ซึ่งจะทำให้ “พลังละมุน” (Soft Power) ที่แข็งแกร่งสุดของอังกฤษอ่อนแรงลงในเวทีระหว่างประเทศ อันจะไม่เป็นผลดีต่อ EPL และสินค้า/บริการอื่นของอังกฤษในตลาดต่างประเทศในระยะยาว
อันที่จริง ก่อนหน้านี้ ซูหนิง ซึ่งเป็นกิจการข้ามชาติรายใหญ่ของจีน ได้ทำสัญญาซื้อลิขสิทธิ์การถ่ายทอดสดฟุตบอลพรีเมียร์ลีกอังกฤษในจีนแผ่นดินใหญ่และมาเก๊าเป็นระยะเวลา 3 ปีในมูลค่ารวมกว่า 650 ล้านเหรียญสหรัฐฯ และแพร่ภาพผ่านพีพีไลฟ์สปอร์ตส์ (PPLive Sports) บริการสตรีมมิ่งของบริษัท แต่อาจกล่าวได้ว่าโควิด-19 ทำให้ก้าวแรกของสัญญาความร่วมมือดังกล่าวหยุดชะงักลง
สำหรับท่านที่ติดตามข่าววงการกีฬาโลกก็อาจทราบว่า ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ซูหนิงเอาใจผู้นำจีนด้วยการลงทุนในกิจการฟุตบอลในหลายส่วน ตั้งแต่การเป็นผู้สนับสนุนและเข้าซื้อหุ้นทีมฟุตบอลพรีเมียร์ลีกจีน และต่างประเทศ อาทิ ทีมอินเตอร์ มิลาน (Inter Milan) ของอิตาลีที่ลงทุนซื้อหุ้นใหญ่ในมูลค่ากว่า 300 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เมื่อปี 2016 แต่บ้างก็ว่า โคโรน่าไวรัสอาจเป็นเพียงข้ออ้างของความขัดแย้งในครั้งนี้ เพราะข่าวอีกด้านหนึ่งสะท้อนว่า การยกเลิกสัญญาดังกล่าวเกิดขึ้นจากปัญหาทางการเมือง
นับแต่เดือนมีนาคม ที่ผ่านมา กระแสความขัดแย้งทางการเมืองระหว่างจีนและอังกฤษมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะภายหลังจากที่รัฐบาลอังกฤษประกาศแบนอุปกรณ์เครือข่ายระบบ 5G ของหัวเหว่ย (Huawei) และท่าทีของท่านบอริส จอห์นสัน (Boris Johnson) นายกรัฐมนตรีของอังกฤษต่อกฎหมายความมั่นคงในฮ่องกงฉบับใหม่ที่ออกมาเมื่อราวสองเดือนก่อนหน้านี้
อีกสิ่งหนึ่งที่ต้องไม่ลืมก็คือ จาง จิ่นตง (Zhang Jindong) เจ้าของซูหนิง มีตำแหน่งเป็นถึงหนึ่งในสภาที่ปรึกษาทางการเมืองของจีน (National Committee of the Chinese People’s Political Consultative Conference) ทุกย่างก้าวจึงสะท้อนท่าทีของรัฐบาลจีนอยู่ในที
โดยที่รัฐบาลจีนยึดมั่นในหลักการ “การเมืองนำเศรษฐกิจ” ดังนั้น เราจึงเห็นรัฐบาลจีนแสดงปฏิกริยาตอบโต้อย่างชัดเจนต่อผู้ที่เข้าไป “ยุ่มย่าม” กับประเด็นทางการเมืองที่มีความอ่อนไหวสูงแบบ “ตาต่อตา ฟันต่อฟัน” มาโดยตลอด ไม่เว้นแม้แต่คนในวงการกีฬา
ยกตัวอย่างเช่น เมื่อปีที่แล้ว จีนก็เคยแบนการถ่ายทอดสดบางเก็นบอล “เอ็นบีเอ” (NBA) ของสหรัฐฯ ซึ่งถือเป็นหนึ่งในกีฬายอดนิยมในจีน หลังจากที่ดารีล มอร์รี (Daryl Morey) ผู้จัดการทั่วไปของทีมฮิวสตัน ร็อกเก็ตส์ (Houston Rockets) ให้ความเห็นสนับสนุนการชุมนุมประท้วงที่ฮ่องกง ซึ่งมาถึงปัจจุบันสถานการณ์เพิ่งเริ่มคลี่คลายและกลับมาแพร่ภาพอีกครั้งเมื่อไม่กี่วันก่อน
ขณะเดียวกัน หัวเหว่ยก็ตอบโต้การสั่งยุติการจัดหาอุปกรณ์ 5G ของหัวเหว่ยด้วยการยกเลิกการสนับสนุนแคมเบอร์ร่า เรดเดอร์ (Canberra Raiders) ทีมรักบี้ชื่อดังของออสเตรเลีย
นอกจากนี้ รัฐบาลจีนยังตีกลับการวิจารณ์ของเมซุต โอซิล (Mesut Ozil) นักเตะของอาร์เซนอลและอดีตเพลย์เม็กเกอร์ทีมชาติเยอรมนี ต่อประเด็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนของรัฐบาลจีนที่มีต่อคนมุสลิมในซินเกียง (Xinjiang) ด้วยการยกเลิกการแพร่ภาพฟุตบอลพรีเมียร์ลีกจำนวนหลายนัด โดยเฉพาะอย่างยิ่งในนัดที่อาร์เซนอลลงแข่งขัน และปรับผังการถ่ายทอดสดนัดอื่นไปลงช่อง CCTV5+ ที่มีผู้ชมเข้าถึงได้ค่อนข้างน้อย รวมทั้งยังแบนคอนเท้นต์ของเมซุต โอซิลในสื่อสังคมออนไลน์ในจีน
ขณะเดียวกัน ผู้เชี่ยวชาญในวงการกีฬาต่างแสดงความกังวลใจต่อสถานการณ์ดังกล่าว ไซมอน แชดวิค (Simon Chadwick) ศาสตราจารย์ประจำ Emlyon Business School กล่าวไว้ว่า การยกเลิกสัญญาของ EPL ในครั้งนี้ไร้ซึ่งความยุติธรรม และบิดเบือนความสนใจของนักลงทุนจีนในวงการกีฬายุโรป ซึ่งนี่เป็นอีกครั้งหนึ่งที่กีฬาตกเป็นเหยื่อของความมุ่งมั่นในการสยายปีกในวงการกีฬาโลกของจีน
อย่างไรก็ดี เมื่อกลางเดือนกันยายน ที่ผ่านมาก็มีข่าวว่า ELP ได้ตกลงในสัญญาระยะเวลา 1 ปีกับเทนเซ้นต์ (Tencent) พี่ใหญ่แห่งวงการเกมส์และสื่อสังคมออนไลน์ของจีน โดยเทนเซ้นต์วางแผนที่จะแพร่ภาพการถ่ายทอดสดการแข่งขันพรีเมียร์ลีก 372 นัดนับจากวันเสาร์ที่ 19 กันยายนจนสิ้นสุดฤดูกาล
อีเวลล์ จ้าว (Ewell Zhao) ผู้จัดการทั่วไปของ Tencent Sports กล่าวว่า บริษัทเตรียมจะแพร่ภาพกว่าครึ่งหนึ่งของจำนวนนัดทั้งหมดโดยไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายในการชม และอีกครึ่งหนึ่งให้แก่เฉพาะสมาชิกของ Tencent Sports ซึ่งนั่นก็เป็นการเสริมสร้างฐานลูกค้าออนไลน์ และส่งสัญญาณเตือนไปถึงแพล็ตฟอร์มอื่น โดยเฉพาะอย่างยิ่งอเมซอน.คอม (Amazon.com) ที่เคยแพร่ภาพพรีเมียร์ลีกมาก่อนหน้านี้บ้างแล้ว
แฟนฟุตบอลในจีนยังสามารถติดตามข่าวคราวความเคลื่อนไหวของสโมสรและนักเตะผ่านเครือข่ายสื่อดิจิตัลของกลุ่มเทนเซ้นต์ อันได้แก่ วีแชต (WeChat) คิวคิว.คอม (QQ.com) และเทนเซ้นต์วิดีโอ (Tencent Video) รวมทั้งแอพเพนกวินไลฟ์ (Penguin Live App) แอพเทนเซ้นต์นิวส์ (Tencent News App) แอพเทนเซ้นต์สปอร์ต (Tencent Sports App) และแพล็ตฟอร์มไลฟ์สตรียมมิ่งค่านเตี่ยน (Kan Dian)
แหล่งข่าวเปิดเผยเพิ่มเติมว่า วงเงินสัญญาดังกล่าวจำแนกเป็นค่าลิขสิทธิ์ในวงเงินก้อนโต และส่วนแบ่งรายได้จากค่าสมาชิกของเทนเซ้นต์สปอร์ตส์ (Tencent Sports) แต่ก็คาดว่า วงเงินโดยรวมจะต่ำกว่าผลตอบแทนตามสัญญาเดิมที่ EPL ทำไว้กับซูหนิง อย่างไรก็ดี ดีลเปลี่ยนมือผู้ซื้อลิขสิทธิ์การถ่ายทอดสดพรีเมียร์ลีกอังกฤษในครั้งนี้ ดูจะสมประโยชน์ทุกฝ่าย ในด้านหนึ่ง เทนเซ้นต์สามารถ “ปรับฐาน” ค่าลิขสิทธิ์ในยุคหลังโควิด-19 ได้ในระดับหนึ่งขณะที่ EPL ได้คู่สัญญาที่ใหญ่และมีเครือข่ายการแพร่ภาพที่กว้างขวางมากขึ้น รวมทั้งยังสามารถปลดล็อกความเสี่ยงด้านรายได้และการเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายในจีนดังเช่นที่ผ่านมา
นอกจากนี้ ทั้งสองฝ่ายยังได้รูปแบบสัญญาความร่วมมือที่สะท้อนความเป็นพันธมิตรระหว่างกัน ส่วนสโมสรที่เกี่ยวข้องโดยเฉพาะอย่างยิ่งที่มีขนาดเล็กก็จะมีเงินจำนวนมากอัดเข้าไปช่วยสภาพคล่องทางการเงิน ชดเชยกับการหดหายไปของรายได้จากค่าบัตรผ่านประตูและการจำหน่ายของที่ระลึก
คอบอลในแดนมังกรยังได้ชมการถ่ายทอดฟุตบอลพรีเมียร์ลีกฟรีเกือบ 200 นัด ถ้าอยากชมอย่างเต็มเหยียดก็ยอมเสียค่าสมาชิกเพิ่มขึ้นอีกเพียงเล็กน้อย นอกจากนี้ การปรับผังตารางการแข่งขันที่เรียงคิวเตะต่อเนื่องกันไปหลายวันในแต่ละสัปดาห์ ก็คาดว่าจะทำให้คอบอลทั่วโลกมีโอกาสรับชมความบันเทิงได้หลากหลายและเพิ่มมากขึ้น
เหนือสิ่งอื่นใด ผมก็เชื่อมั่นว่า พรีเมียร์ลีกอังกฤษในฤดูกาลนี้ที่หลายทีมต่างทุ่มทุนซื้อตัวนักเตะระดับพระกาฬมากหน้าหลายตาเข้ามาเสริมทัพ จะทำให้สงครามการต่อสู้แย่งชิงตำแหน่งแชมป์ในครั้งนี้มีความเข้มข้น สนุก และเร้าใจมากกว่าของฤดูกาลที่ผ่านมาอย่างแน่นอน …