เมื่อมังกรติดวัคซีนขวิดโควิด-19

Must read

ดร.ไพจิตร วิบูลย์ธนสาร รองประธานและเลขาธิการหอการค้าไทยในจีน และอุปนายกและเลขาธิการ สมาคมส่งเสริมการลงทุนและการค้าไทย-จีน

เมื่อวันที่ 4 กันยายน ที่ผ่านมา จีนได้สร้างความตื่นตะลึงอีกครั้งผ่านงานแฟร์ด้านการค้าบริการนานาชาติ (China International Fair for Trade in Services) หรือที่เราเรียกกันว่า “CIFTIS” ซึ่งเป็นงานแฟร์ด้านธุรกิจบริการที่ใหญ่ที่สุดในจีน และหนึ่งในงานแฟร์ด้านธุรกิจบริการอันดับต้นๆ ของโลกโดยปีนี้มีความพิเศษในหลายประการ

ประการหนึ่ง งานในครั้งนี้นับเป็นงานแสดงสินค้าเป็นครั้งแรกที่เปิดให้ผู้คนเข้าเยี่ยมชมงานแบบปกติ โดยไม่มีการจำกัดปริมาณคนภายในงานแบบนิวนอร์มอล ซึ่งสะท้อนถึงความเชื่อมั่นเต็มร้อยของรัฐบาลจีนต่อการปลอดเชื้อโควิด-19 การเปิดประเทศ และการส่งสัญญาณเชิงบวกต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจจีนและเศรษฐกิจโลก รวมทั้งการเสริมสร้างความร่วมมือด้านเศรษฐกิจและการค้าระหว่างประเทศ

ประการที่สอง งานในปีนี้ได้รับเกียรติจากประธานาธิบดีสี จิ้นผิงที่ไปเป็นประธานการเปิดงานด้วยตนเอง ปกติเราจะไม่ค่อยเห็นผู้นำจีนเดินทางไปเปิดงานแสดงสินค้า ยกเว้นงานแสดงสินค้านำเข้าระหว่างประเทศ (China International Import Expo) ที่นครเซี่ยงไฮ้ ซึ่งถือเป็นงานแสดงสินค้านำเข้าที่ใหญ่สุดในโลกในปัจจุบัน

ประการที่สาม เมื่อผู้นำจีนออกโรงเองอย่างนี้ก็ต้องมีอะไรสุดพิเศษให้ฮือฮากัน กระทรวงสาธารณสุขของจีนได้มาเปิดพาวิลเลียนขนาด 836 ตารางเมตรในพื้นที่ด้านการสาธารณสุข (Public Health Exhibition Zone) ภายในงาน และนำเอาวัคซีนต้านโควิด-19 และชุดทดสอบมาเปิดตัวแก่สาธารณชนเป็นครั้งแรก ซึ่งทำให้ผู้เข้าเยี่ยมชมงานต่างให้ความสนใจและลงทะเบียนเข้าคิวซื้อล่วงหน้ากันอย่างหนาแน่น

ภายในพาวิลเลียนมีรัฐวิสาหกิจรายใหญ่แห่งวงการยาของจีน 2 รายนำเสนอวัคซีนดังกล่าว ได้แก่ ชิโนฟาร์ม (Sinopharm) และชิโนวัค ไบโอเทค (Sinovac Biotech) ทั้งนี้ วัคซีนของทั้งสองรายได้รับอนุมัติจากรัฐบาลจีนเมื่อเดือนกรกฎาคมให้เริ่มทดลองใช้เป็นกรณีพิเศษกับบุคลากรทางการแพทย์และผู้ที่มีความเสี่ยงสูงในการปฏิบัติงาน อาทิ คนที่ทำงานในพื้นที่ชายแดน และผู้ที่จำเป็นต้องเดินทางไปทำงานในต่างประเทศ

ต่อมา บริษัททั้งสองก็นำวัคซีนไปทดสอบในต่างประเทศ และคาดว่าหากทุกอย่างดำเนินไปอย่างราบรื่นก็คาดว่า วัคซีนจะผ่านการทดสอบและได้รับอนุมัติจากองค์การอนามัยโลก (World Health Organization) ได้ภายในสิ้นปี ก่อนนำไปใช้กับสาธารณชน

นายจาง หยุ่นเทา (Zhang Yuntao) รองประธานกรรมการของ China National Biotech Group (CNBG) ซึ่งเป็นกิจการในเครือของชิโนฟาร์ม เปิดเผยว่า บริษัทอยู่ระหว่างการพัฒนาวัคซีนอยู่ 2 ตัวผ่านสถาบันวิจัยที่ปักกิ่งและอู่ฮั่น 

ทั้งสองตัวยาอยู่ในระยะที่ 3 ของการทดสอบทดลองกับคนกว่า 50,000 คนในหลายประเทศ อาทิ สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ บาห์เรน จอร์แดน โมร็อกโก เปรู และอาร์เจนตินา

จนถึงสิ้นเดือนสิงหาคม มีอาสาสมัคร 35,000 คนใน 115 ประเทศที่ได้รับวัคซีนไปแล้ว ซึ่งพิสูจน์ให้เห็นถึงความปลอดภัยและประสิทธิภาพของตัวยาดังกล่าว

เมื่อต้นเดือนกันยายนที่ผ่านมา เซอร์เบียและปากีสถานก็ตอบตกลงที่จะร่วมมือให้เป็นแหล่งทดลองวัคซีน 2 ตัวดังกล่าว นอกจากนี้ บริษัทฯ ยังวางแผนจะทดสอบวัคซีนกับเจ้าหน้าที่ของรัฐที่ทำงานในสถานทูตและสถานกงสุลในต่างประเทศในเร็วๆ นี้

ในส่วนของชิโนวัค ไบโอเทค ก็พัฒนาวัคซีนที่มีชื่อว่า “โคโรนาวัค” (CoronaVac) การทดสอบใช้วัคซีนในระยะที่ 1 และ 2 กับกลุ่มผู้สูงอายุที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไปจำนวนกว่า 420 รายเมื่อราวเดือนพฤษภาคม มิได้ส่งผลข้างเคียงแต่ประการใด

ปัจจุบัน “โคโรนาวัค” อยู่ในระยะสุดท้ายของการทดลองกับมนุษย์ โดยได้นำไปทดสอบกับคนในหลายกลุ่ม อาทิ บุคลากรของบริษัทและสมาชิกครอบครัวในจีนจำนวนกว่า 3,000 คน และในอีกหลายประเทศ อาทิ บราซิล อินโดนีเซีย ตุรกี และบังคลาเทศ

นายหยิ่น เว่ยตง (Yin Weidong) ประธานกรรมการและซีอีโอของชิโนวัค ไบโอเทคเปิดเผยว่า การวิจัยวัคซีนดังกล่าวในบราซิลรุดหน้าไปอย่างรวดเร็ว โดยเมื่อเร็วๆ นี้ บริษัทฯ ได้ฉีดวัคซีนให้กับอาสาสมัคร 9,000 คน และหวังว่าจะได้รับผลการทดสอบในเดือนตุลาคม ศกนี้ ซึ่งหากทุกอย่างดำเนินไปอย่างราบรื่น ก็คาดว่า บริษัทฯ จะสามารถกระจายวัคซีนสู่ท้องตลาดได้ภายในสิ้นปีนี้ และป้องกันเชื้อโควิด-19 ได้ถึง 3 ปี

โดยที่วัคซีน “โคโรนาวัค” พัฒนาจากโคโรน่าไววัสกว่า 20 สายพันธุ์ทั้งจากสหรัฐฯ ยุโรป และตะวันออกกลาง วัคซีนนี้ยังมีประสิทธิภาพสูง โดยมากกว่า 90% ของการทดสอบดังกล่าวมีระดับแอนตี้บอดี้เพิ่มขึ้น และมีเพียงไม่กี่รายที่ประสบผลข้างเคียง เช่น อ่อนเพลีย มีไข้

นอกจากนี้ วัคซีนยังสามารถจัดเก็บโดยรักษาคุณภาพของตัวยาได้ในระดับอุณหภูมิที่แตกต่างกัน อาทิ คงสภาพ 28 วัน ณ ระดับ 37 องศาเซลเซียส เก็บได้ 42 วัน ณ ระดับ 25 องศาเซลเซียส และรักษาสภาพถึง 5 เดือน ณ ระดับ 2-8 องศาเซลเซียส ทำให้วัคซีนตัวนี้มีจุดเด่นที่จะสามารถนำไปใช้กับประชากรโลกได้ในวงกว้าง

จากข้อมูลขององค์การอนามัยโลกพบว่า ปัจจุบันมีวัคซีนทั่วโลกมากกว่า 30 ตัวที่อยู่ในขั้นทดลอง ในจำนวนนี้ มี 9 ตัวอยู่ในระยะที่ 3 ของการพัฒนา แต่องค์การอนามัยโลกก็ยังกังวลใจกับความโปร่งใสในการพัฒนาวัคซีนหลายตัว ถึงขนาดประเมินว่า วัคซีนเหล่านี้ส่วนใหญ่คาดว่าจะสามารถนำออกสู่ท้องตลาดได้ในกลางปี 2021 เป็นอย่างเร็ว

อย่างไรก็ดี รัฐบาลจีนกลับยังคง “เดินหน้า” และ “คิดไกล” กว่าที่หลายฝ่ายประเมินไว้ โดยประธานาธิบดีสี จิ้นผิงได้กล่าวไว้เมื่อเดือนพฤษภาคม ที่ผ่านมาว่า จีนจะให้วัคซีนที่ได้รับอนุมัติเป็น “สินค้าสาธารณะของโลก” (Global Public Goods) โดยเฉพาะอย่างยิ่งประเทศกำลังพัฒนาในทวีปแอฟริกา 

ประการสำคัญ รัฐบาลจีนจะควบคุมราคาจำหน่ายวัคซีนให้อยู่ในระดับที่ “จับต้องได้” โดยวัคซีน 2 โดสที่ต้องใช้คู่กันคาดว่าจะมีราคาอยู่ไม่เกิน 1,000 หยวน

ขณะเดียวกัน ปัจจุบัน จีนก็กำลังเร่งพัฒนาวัคซีนป้องกันเชื้อโควิด-19 อยู่ถึง 9 ตัว ซึ่งอยู่ในขั้นตอนการทดลองที่แตกต่างกัน ประการสำคัญ วัคซีนแต่ละตัวถูกออกแบบและพัฒนาเพื่อเป้าหมายเฉพาะ อาทิ เพื่อตลาดจีน เพื่อตลาดโลก หรือเพื่อป้องกันโคโรน่าไวรัสที่กลายพันธุ์ ซึ่งอยู่ระหว่างการพัฒนาของวงการแพทย์ทหารของจีน

ข้อมูล ณ เดือนสิงหาคม ที่ผ่านมายังระบุว่า วงการแพทย์มีคำสั่งซื้อล่วงหน้ารวมจากทั่วโลกอย่างน้อย 5,700 ล้านโดส ดังนั้น ในแง่ของกำลังการผลิต ชิโนฟาร์มและชิโนวัค ไบโอเทคได้ก่อสร้างโรงงานขนาดใหญ่เพื่อตอบสนองต่อความต้องการในระยะแรกเอาไว้เรียบร้อยแล้ว โดยทั้งสองบริษัทจัดเตรียมกำลังการผลิตรายละ 300 ล้านโดสต่อปี

อย่างไรก็ดี เพื่อให้สามารถรองรับคำสั่งซื้อล่วงหน้าที่มากกว่ากำลังการผลิตในปัจจุบันถึงราว 2 เท่าตัว ทั้งสองบริษัทจึงได้เตรียมเพิ่มกำลังการผลิตกันขนาดใหญ่ อย่างเช่น ชิโนวัคเตรียมขยายกำลังการผลิต ที่ฐานอุตสาหกรรมไบโอเมดิคัลต้าซิง (Daxing Biomedical Industry Base) ทางตอนใต้ของกรุงปักกิ่งเป็น 1,000 ล้านโดสต่อปีในระยะที่ 2

นอกจากนี้ บริษัทที่เกี่ยวข้องของจีนยังให้ความสำคัญกับการ “เข้าถึง” โดยได้เตรียมแผนการกระจายวัคซีนไว้ในเบื้องต้นแล้ว โดยเฉพาะอย่างยิ่งประเทศที่มีประชากรมากและการแพร่ระบาดรุนแรง

ยกตัวอย่างเช่น ชิโนวัคได้ลงนามในบันทึกความเข้าใจกับ พีทีไบโอฟาร์มา (PT Bio Farma) ของอินโดนีเซียไปเมื่อวันที่ 20 สิงหาคม ที่ผ่านมา โดยวางแผนกระจายวัคซีน 40 ล้านโดสในระหว่างพฤศจิกายน 2020-มีนาคม 2021

ขณะเดียวกัน จีนยังเตรียมใช้อียิปต์เป็นฐานการผลิตและกระจายวัคซีนในแอฟริกาทางตอนเหนือ โดยวางแผนจะใช้เครือข่ายสิ่งอำนวยความสะดวกเดิมที่เคยใช้ในการกระจายชุด PPE และเวชภัณฑ์ทางการแพทย์อื่นในทวีปแอฟริกา อาทิ มูลนิธิแจ็ก หม่า (Jack Ma Foundation)และสายการบินเอธิโอเปีย (Ethiopian Airlines)มาช่วยกระจายวัคซีนดังกล่าวต่อไป

ก็ต้องถือว่า จีนสามารถเดินหน้าเรื่องการพัฒนาวัคซีนต้านโควิด-19 ได้ตามแผนที่ประกาศไว้ เมื่อมังกรเอาวัคซีนออกมาไล่ขวิดโควิด-19 ในสิ้นปีนี้ได้ในวงกว้าง เราคงไม่ต้องกลัวไวรัสร้ายตัวนี้กันอีกแล้ว ผมก็ได้แต่หวังว่า นัยน์ตาของผู้ประกอบการในวงการท่องเที่ยวของไทยคงเป็นประกายขึ้นเมื่ออ่านบทความนี้จบลง …

- Advertisement -spot_img

More articles

- Advertisement -

Latest article