ทันทีที่การประชุมคณะกรรมการกลางพรรคคอมมิวนิสต์ชุดที่ 19 ครั้งที่ 5 สิ้นสุดลงเมื่อปลายเดือนตุลาคม ที่ผ่านมา พรรคคอมมิวนิสต์จีนก็สรุปผลการพิจารณาแผนพัฒนา 5 ปีฉบับที่ 14 ซึ่งมีสาระสำคัญที่น่าสนใจหลายประการ เราไปเจาะลึกถึงแผนดังกล่าวกันว่าจะสามารถนำพามังกรให้ทะยานฟ้าได้หรือไม่ อย่างไร …
ในการพิจารณาร่างแผน 14 พรรคฯ ได้เชิญผู้ที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมประชุมอย่างมากหน้าหลายตา อันประกอบด้วยสมาชิกปัจจุบัน 198 คนและสมาชิกสำรอง 166 รายของคณะกรรมการกลางฯ ตลอดจนคณะกรรมการกลางถาวรด้านการตรวจสอบวินัย และเจ้าหน้าที่อาวุโสของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ผู้เชี่ยวชาญ นักวิชาการ และทีมสนับสนุนที่ทำงานในระดับฐานรากอีกจำนวนหนึ่ง
การประชุมใช้เวลารวมกว่า 3 วัน โดยในวันแรก ที่ประชุมรับทราบรายงานผลความสำเร็จในการสร้างสังคมจีนให้เติบโตในระดับกลางได้ในทุกมิติ
การดำเนินการตามแผนพัฒนา 13 ซึ่งจะสิ้นสุดลงในปลายปี 2020 เป็นไปอย่างราบรื่น กล่าวคือ จีนได้ปรับจูนพื้นฐานเชิงยุทธศาสตร์จนรุดหน้าในหลายส่วน โดยเดินหน้าปฏิรูปด้านอุปทานในเชิงลึก จัดระเบียบด้านเศรษฐกิจมหภาคในระดับที่สูงขึ้น และขยายอุปสงค์ภายในประเทศจนมีบทบาทสำคัญต่อการขับเคลื่อนเศรษฐกิจในยุคหลัง
ในห้วงดังกล่าว เศรษฐกิจจีนประสบความสำเร็จเติบโตได้มากกว่าที่กำหนดไว้ท่ามกลางความท้าทายของการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก โครงสร้างเศรษฐกิจถูกปรับให้ถูกทิศถูกทาง โดยจีดีพีของจีนจะพุ่งขึ้นทะลุ 100 ล้านล้านหยวน ณ สิ้นปี 2020
ขณะเดียวกัน ในช่วงแผน 13 จีนก็สร้างงานใหม่ในชุมชนเมืองถึงกว่า 60 ล้านตำแหน่ง และสามารถรักษาความมั่นคงเชิงสังคมในแก่ประชาชนโดยรวม โดยชาวจีนมากกว่า 55 ล้านคนได้ถูกยกให้หลุดพ้นเหนือเส้นแบ่งความยากจน หรือเฉลี่ยปีละกว่า 11 ล้านคน
จีนยังสร้างผลงานชิ้นเอกด้วยการพัฒนาระบบประกันสังคมที่ใหญ่ที่สุดในโลก โดยรัฐบาลจีนได้ออกแบบการประกันสุขภาพแก่ประชากรมากกว่า 1,300 ล้านคน และสวัสดิการพื้นฐานแก่ผู้สูงอายุอีกหลายร้อยล้านคน
นอกจากนี้ ในช่วงวิกฤติโควิด-19 จีนยังประสานการป้องกันและควบคุมการแพร่กระจายของโคโรนาไวรัสให้สอดคล้องกับแนวทางการพัฒนาที่วางไว้ได้ โดยให้ความสำคัญกับความปลอดภัยและสุขภาพของประชาชนมาเป็นอันดับแรก ทำให้สามารถจัดการกับวิกฤติได้อย่างยอดเยี่ยม
ในเชิงการเมือง ความเป็นผู้นำที่มีลักษณะพิเศษของจีนได้ถูกยกระดับขึ้นจนท่านสี จิ้นผิงได้รับการยอมรับว่าเป็นหนึ่งในผู้นำโลก ขณะเดียวกันความเป็นผู้นำในพรรคคอมมิวนิสต์และระบอบสังคมนิยมจีนก็แสดงถึงความแข็งแกร่งที่เพิ่มสูงขึ้น
ในแง่ของพิมพ์เขียวตามแผนฯ ฉบับที่ 14 ซึ่งจะถูกกำหนดใช้ในช่วงปี 2021-2025 นั้น ก็รวบรวมข้อมูลและมุมมองจากทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาชนไว้อย่างพร้อมสรรพ ซึ่งที่ประชุมเห็นว่า พรรคฯ จะต้องพยายามทำความเข้าใจอย่างถ่องแท้ และพิจารณาแผนเชิงยุทธ์ในการนำเอา “ความกระชุ่มกระชวย” ของจีนในยุคใหม่เข้าเป็นส่วนหนึ่งของการเปลี่ยนแปลงของโลกในอนาคต
ขณะเดียวกัน ทุกฝ่ายก็ควรต้องคำนึงถึงลักษณะพิเศษและข้อจำกัดที่เกิดขึ้นจากวิวัฒนาการของปัจจัยแวดล้อมที่สังคมจีนกำลังเผชิญอยู่ ซึ่งที่ประชุมประเมินว่า จีนยังอยู่ในระยะแรกของระบอบสังคมนิยมสมัยใหม่ จึงควรให้ความใส่ใจกับความขัดแย้งและความท้าทายใหม่ที่อาจเกิดขึ้นภายใต้ปัจจัยแวดล้อมระหว่างประเทศที่สลับซับซ้อนมากขึ้น
ในภาพรวม แนวทางการพัฒนาเศรษฐกิจตามแผน 14 จะมุ่งเน้นการสร้างความยั่งยืนและความแข็งแกร่งด้านเศรษฐกิจ ผ่านการปรับปรุงด้านคุณภาพและประสิทธิภาพของภาคการผลิตและระบบที่ทันสมัย เพื่อยกระดับมาตรฐานการครองชีพของประชาชนในระดับที่สูงขึ้น
ขณะที่ในเชิงการเมืองและสังคม แผน 14 จะให้ความสำคัญกับการริเริ่มการดำเนินนโยบาย “จีนที่สุขสงบ” และการขยายการพัฒนาสังคมที่ดีในทุกด้าน ซึ่งครอบคลุมถึงมารยาทและความสุภาพทางสังคมและความก้าวหน้าของวิถีชีวิตที่เป็นมิตร ทั้งในการทำงานและการดำรงชีพ ค่านิยมหลักของระบอบสังคมนิยมควรจะได้รับการเคารพในหมู่ประชาชน
เพื่อบรรลุเป้าหมายเชิงคุณภาพในระยะยาวตามแผน 14 จีนได้วางแนวทางการดำเนินงานในหลายส่วนควบคู่กันไป โดยเฉพาะอย่างยิ่ง
- การส่งเสริมการพัฒนาขีดความสามารถด้านนวัตกรรม โดยแสดงบทบาทนำในการนำเอานวัตกรรมเข้าไปมีส่วนในการผลักดันสู่ความทันสมัย และดำเนินกลยุทธ์ที่ใช้นวัตกรรมเป็นตัวขับเคลื่อน
เรื่องนี้เป็นการสานต่อแผน 13 ซึ่งเป็นครึ่งแรกของนโยบาย Made in China 2025 ทั้งนี้ ผู้นำจีนยังและผู้บริหารระดับสูงของรัฐบาลจีนได้กล่าวเน้นย้ำในหลายเวทีในทำนองว่า นวัตกรรมจะขับเคลื่อนและยกระดับให้อุตสาหกรรมการผลิตของจีนเป็นส่วนหนึ่งของห่วงโซ่แห่งคุณค่าของโลก ควบคู่ไปกับการสร้างเชื่อมั่นด้านอุปทานภายในประเทศในเชิงยุทธ์
- การสร้างระบบการผลิตภาคอุตสาหกรรมที่ทันสมัย และยกระดับโครงสร้างเศรษฐกิจ ซึ่งจะช่วยสนับสนุนภาคเศรษฐกิจที่แท้จริง ปรับปรุงพลังของภาคการผลิต และทำให้อุตสาหกรรมและห่วงโซ่อุปทานมีความทันสมัย เพื่อปรับปรุงการเติบโตคุณภาพสูงและขีดความสามารถในการแข่งขันหลัก
การกำหนดแนวทางดังกล่าวนี้สะท้อนว่า ภายใต้ความท้าทายใหม่ของ “การแยกขั้ว” (Decoupling) ที่จะทวีความรุนแรงขึ้นในอนาคต จีนกำลังจะให้ความสำคัญกับการยกระดับความสามารถของภาคการผลิตครั้งใหม่ของตนเองให้ถูกทิศทาง เป็นระบบ ครบวงจร และให้มีการตอบแทนเชิงมูลค่าสูง รวมทั้งยังมีความยืดหยุ่น เพื่อให้สอดคล้องกับความต้องการอย่างมีสมดุลมากขึ้น
และไม่น่าแปลกใจที่เราจะเห็นจีน “ยืนอยู่บนลำแข้งของตัวเอง” พัฒนาเซมิคอนดักเตอร์สำหรับคอมพิวเตอร์และสมาร์ตโฟน โทรคมนาคมยุคใหม่ ปัญญาประดิษฐ์ และอื่นๆ ขึ้นภายในประเทศในช่วงครึ่งหลังของนโยบาย Made in China 2025