- การยึดหลักเศรษฐกิจ “วงจรคู่” (Dual Circulation) ที่ดูแลตลาดภายในประเทศให้มีความแข็งแรง และสร้างรูปแบบการพัฒนาใหม่ ซึ่งจะช่วยให้วงจรภายในประเทศพัฒนาไปอย่างราบรื่น และผสมผสานวงจรภายในและระหว่างประเทศให้เสริมสร้างระหว่างกันอย่างยั่งยืน อันจะช่วยกระตุ้นการบริโภคในทุกด้านและนำไปสู่การขยายการลงทุน
การดำเนินการตามแนวทางดังกล่าวในระดับระหว่างประเทศอาจสะท้อนว่า ในด้านหนึ่ง จีนจะพยายามลดอิทธิพลของสหรัฐฯ ที่มีต่อเศรษฐกิจจีน ซึ่งอยู่ที่ระดับถึงเกือบ 1 ใน 3 ของทั้งหมด โดยอาจลดระดับการพึ่งพาเทคโนโลยีและตลาดส่งออกของสหรัฐฯ ซึ่งกระทบเศรษฐกิจจีนอย่างรุนแรงในสภาวะที่สงครามการค้าและเทคโนโลยียังคุกรุ่นอยู่
ในอีกด้านหนึ่ง จีนก็จะขยายความร่วมมือกับประเทศอื่น โดยเฉพาะอย่างยิ่งในภูมิภาคเอเซียและยุโรปเอาไว้เพื่อชดเชยกับการ “ห่างเหิน” จากสหรัฐฯ ในอนาคต
- การปฏิรูปเชิงลึกในทุกมิติ เพื่อมุ่งสู่ระบบเศรษฐกิจสังคมนิยมระดับสูง ซึ่งจะนำไปสู่การปรับปรุงระบบการแข่งขันที่เป็นธรรม และอยู่บนพื้นฐานของกลไกตลาด รวมไปถึงการมุ่งสู่การเปิดกว้างเศรษบกิจระดับสูง และสำรวจแนวทางใหม่ของความร่วมมือเชิงสร้างสรรค์ เพื่อขยายโอกาสในการใช้ความได้เปรียบจากตลาดขนาดใหญ่เพื่อส่งเสริมความร่วมมือระหว่างประเทศและนำไปสู่ผลประโยชน์ร่วม
- การปรับปรุงมาตรฐานการครองชีพสู่อีกระดับหนึ่ง การต่อสู้กับความยากจนและส่งเสริมกลยุทธ์ที่สร้างความกระชุ่มกระชวยแก่พื้นที่ชนบทผ่านการจ้างงานในระดับที่สูงขึ้น ทั้งในเชิงปริมาณและคุณภาพ โดยรายได้ส่วนบุคคลเพิ่มขึ้นสอดคล้องกับการขยายตัวทางเศรษฐกิจ และโครงสร้างรายได้ของประชาชนโดยรวมปรับเปลี่ยนในเชิงบวกอย่างรุดหน้า
- การมุ่งเน้นการพัฒนาด้านเกษตรกรรมและพื้นที่ในชนบท และการสร้างความมีชีวิตชีวาที่ก้าวหน้าอย่างเต็มที่ในพื้นที่ชนบท ซึ่งรวมถึงการปฏิรูประบบการถือครองสิทธิในการใช้ประโยชน์ในที่ดิน และการจัดสรรปัจจัยการผลิตบนพื้นฐานของกลไกตลาดในระดับที่สูงขึ้น
นอกจากนี้ จีนยังจะยกระดับการพัฒนาระหว่างชุมชนเมืองกับชนบท และแต่ละภูมิภาคให้สมดุลกันมากขึ้น รวมทั้งการพัฒนาชุมชนเมืองประเภทใหม่ การกำหนดแนวทางการพัฒนาที่มุ่งลดความเหลื่อมล้ำระหว่างกันนี้สะท้อนว่า จีนจะยังคงยึดหลักการระบอบสังคมนิยมที่ยึดหลักการความเสมอภาคระหว่างกันต่อไปในอนาคต
- การจัดสรรและเพิ่มประสิทธิภาพในการใช้ประโยชน์จากพลังงานและทรัพยากรอย่างเหมาะสม การขยายภาคการผลิตสีเขียวและลดระดับการปล่อยมลพิษเพื่อปรับปรุงสภาพแวดล้อมอย่างต่อเนื่อง อันจะทำให้คุณภาพและเสถียรภาพของระบบนิเวศได้รับการปกป้องเพื่อสภาพความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น ทั้งในพื้นที่ชุมชนเมืองและชนบท
- การส่งเสริมวัฒนธรรมอันดีของจีน และการปรับปรุงซอฟท์พาวเวอร์ (Soft Power) หรือ “ละมุนภัณฑ์” ในเชิงวัฒนธรรม โดยคาดหวังว่าชาวจีนจะยกระดับในด้านสติปัญญาและจริยธรรม คุณภาพด้านวัฒนธรรมและวิทยาศาสตร์ และสุขภาพกายใจ ซึ่งเราน่าจะเห็นหน่วยงานที่เกี่ยวข้องของจีนจัดและสนับสนุนส่งเสริมการจัดกิจกรรมเชิงวัฒนธรรมในเวทีสาธารณะในวงกว้างมากขึ้น
- การเปิดกว้างในการเข้าถึงบริการสาธารณะพื้นฐาน การปรับปรุงระดับการศึกษาของภาคประชาชนอย่างต่อเนื่อง ควบคู่ไปกับการปรับปรุงระบบประกันสุขภาพและระบบสุขภาพที่เหมาะสมกับภาคประชาชนในวงกว้างยิ่งขึ้น
ประเด็นนี้เป็นสิ่งที่พรรคคอมมิวนิสต์และรัฐบาลจีนตระหนักดีถึงความท้าทายที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น จึงไม่น่าแปลกใจที่เราเห็นหน่วยงานที่เกี่ยวข้องของจีนต่างให้ความสำคัญกับการดำเนินกลยุทธ์อย่างจริงจังเพื่อเตรียมรองรับสังคมผู้สูงอายุ
- การเพิ่มขีดความสามารถในการเสริมสร้างเสถียรภาพความมั่นคงของชาติ และการจัดการกับความท้าทายเดิมที่มีอยู่ และความท้าทายใหม่ที่จะเกิดขึ้นในอนาคต เพื่อปกป้องชีวิตของประชาชนและความมั่นคง และรักษาเสถียรภาพด้านสังคม
ประเด็นสำคัญที่ผู้อ่านสอบถามมามากก็คือ จีนจะทำอย่างไรกับฮ่องกง จากร่างแผน 14 ระบุว่า จีนจะรักษาการเติบโตและความมั่นคงของฮ่องกงและมาเก๊าในระยะยาว ซึ่งหมายความว่า จีนจะยังคงให้ความสำคัญกับการดำรงอยู่ของฮ่องกง และใช้ประโยชน์จากศักยภาพทางเศรษฐกิจที่มีอยู่ ดังนั้น ผมจึงคิดว่า ประเด็นเกี่ยวกับฮ่องกงจึงมิได้เป็นอย่างตามคลิปข่าวที่ถูกปล่อยออกมาก่อนหน้านี้
แต่ประเด็นที่อ่อนไหวยิ่งกว่าก็คือ ร่างแผน 14 กำหนดว่า จีนจะส่งเสริมการกลับคืนสู่มาตุภูมิของไต้หวัน และการพัฒนาความสงบข้ามช่องแคบไต้หวัน โดยจะรักษาเสถียรภาพของปัจจัยแวดล้อมภายนอก และส่งเสริมการพัฒนารูปแบบใหม่ของความสัมพันธ์ระหว่างประเทศและชุมชนบนพื้นฐานของอนาคตร่วมของมนุษยชาติ
- การขยายขีดความสามารถในการกำกับตรวจสอบ และการเพิ่มระดับการกำกับตรวจสอบโดยเฉพาะอย่างยิ่งในระดับชุมชน การปรับปรุงระบอบสังคมนิยมที่เป็นประชาธิปไตย และกฎหมายกฎระเบียบที่แสดงถึงความเป็นธรรมและยุติธรรมในสังคม รวมทั้งยังจะเพิ่มพูนบทบาทของภาครัฐ และประสิทธิภาพและความน่าเชื่อถือในการบริหารจัดการของหน่วยงานภาครัฐ
ประการสำคัญก็คือ จีนเตรียมแผน 14 เพื่อทะยานฟ้ากันแล้ว โดยในระหว่าง 5 ปีของแผน 14 คาดว่าเศรษฐกิจจีนจะเติบโตเฉลี่ยราว 5% ต่อปี ซึ่งนั่นหมายความว่า เมื่อสิ้นสุดแผน 14 ในปี 2025 จีนตั้งเป้าที่จะมีคนชั้นกลางถึง 1,000 ล้านคน และมีรายได้เฉลี่ยต่อหัว 12,700 เหรียญสหรัฐฯ
นอกจากการเป็นตลาดสินค้าอุปโภคบริโภคที่ใหญ่ที่สุดในโลกแล้ว จีนยังจะเป็น “โรงงานของโลกแห่งอนาคต” ที่เต็มไปด้วยฐานการผลิตยุคใหม่ที่เปี่ยมประสิทธิภาพ
แต่จีนจะไม่ได้หยุดเพียงแค่ 5 ปีข้างหน้า เพราะนี่อาจเป็นครั้งแรกที่เราเห็นแผนพัฒนา 5 ปีกำหนดแนวทางและเป้าหมายหลักจนถึงปี 2035 โดยในระหว่างปี 2026-2035 คาดการณ์ว่าเศรษฐกิจจีนจะขยายตัวเฉลี่ยปีละ 4%
หากพัฒนาได้อย่างที่คาดการณ์ไว้ได้จริง เศรษฐกิจจีนจะเพิ่มขึ้นราวปีละ 1 ล้านล้านเหรียญสหรัฐฯ และจะมีขนาดถึง 30 ล้านล้านเหรียญสหรัฐฯ ณ สิ้นปี 2035 นั่นเท่ากับว่า ในแต่ละปีตลอด 15 ปีข้างหน้า เศรษฐกิจจีนจะเบ่งบานขึ้นราว 2 เท่าตัวของจีดีพีไทยในปีปัจจุบัน
นอกจากนี้ จีนยังจะมีจำนวนเมืองอัจฉริยะ (Smart City) ที่มากที่สุดในโลก ขณะที่ในเชิงคุณภาพ เมืองเหล่านี้จะพัฒนาเป็นสังคมในฝันที่มีความสุขสงบและดีงามอย่างที่เราถวิลหาอีกด้วย
มาถึงวันนี้ มังกรได้ติดอาวุธและมองไกลไปกว่าการพลิกฟื้นเศรษฐกิจให้กลับมาเติบโตเป็นบวก และการขจัดความยากจนให้หมดสิ้นแผ่นดินจีนในปี 2020 แต่กำลังเตรียมทะยานฟ้าขึ้นทาบชั้นพญาอินทรีย์กันแล้ว ทั้งนี้ จีนจะเริ่ม “คิ๊กออฟ” การดำเนินงานตามแผน 14 หลังการประชุมใหญ่พรรคคอมมิวนิสต์อีกครั้งในเดือนมีนาคม 2021 ณ กรุงปักกิ่ง
อ่านมาถึงตรงนี้ หลายท่านก็อาจนึกย้อนกลับมาดูตัวเอง ผมคิดว่าไทยเราไม่ต้องทำอะไรมากที่หลุดโลก ขอเพียง “เรียนลัด” จากจีนและนานาประเทศ และ “ปรับแต่ง” กลิ่นอายให้เข้ากับสังคมไทยได้ เราก็สามารถพลิกฟื้นเศรษฐกิจให้กลับมาเติบโตอย่างมีเสถียรภาพอีกครั้งได้อย่างแน่นอน
ว่าแต่เราจะสามารถหลุดจากกับดักทางการเมืองชิ้นใหญ่นี้ได้เมื่อใดกัน หากคำถามนี้ยังคงล่องลอยอยู่ในสายลม ก็อย่าหวังว่าเราจะสามารถเงยหน้ามองอนาคตข้างหน้าได้ …