ในบทความตอนที่ 1 ผมได้กล่าวถึงอัตราส่วนคนยากจนในประเทศไทย ตั้งแต่ช่วงสมัยนายกทักษิณ ชินวัตร จนถึงนายกประยุทธ์ จันทร์โอชา โดยเปรียบเทียบระหว่างประเทศไทยกับประเทศเวียดนาม
และผมยังได้กล่าวถึงการเติบโตของรายได้ครัวเรือนไทยและสัดส่วนรายได้ครัวเรือนไทยเมื่อเทียบกับหนี้สินครัวเรือน รวมทั้งสัดส่วนหนี้สินครัวเรือนต่อ GDP ของไทยเมื่อเทียบกับประเทศอื่นๆ
ผมขอนำมุมมองของศูนย์วิจัยกสิกรไทยที่มีต่อต่อสถานการณ์หนี้ครัวเรือนในปัจจุบัน จากข้อมูลของ ธปท. ที่เผยแพร่ออกมาสะท้อนให้เห็นว่า“หนี้ครัวเรือน” ไตรมาส 2/2563 ยอดคงค้างหนี้ครัวเรือนของไทยยังคงขยับขึ้นสวนทางเศรษฐกิจที่หดตัวจากผลของโควิด-19
ซึ่งส่งผลทำให้สัดส่วนหนี้ครัวเรือนของไทยเพิ่มสูงขึ้นแตะระดับสูงสุดในรอบ 18 ปี ที่ 83.8% ต่อจีดีพี(สัดส่วนหนี้สินครัวเรือนต่อ GDP ในช่วงสมัยทักษิณ อยู่ที่ประมาณ 40% เท่านั้น) และเมื่อเทียบไตรมาสต่อไตรมาสนั้นพบว่า ยอดคงค้างหนี้ครัวเรือนเพิ่มขึ้น 9.22 หมื่นล้านบาทในไตรมาส 2/2563
ซึ่งส่วนใหญ่มาจากสถาบันการเงินเฉพาะกิจและธนาคารพาณิชย์ คาดว่า สัดส่วนหนี้ต่อ GDP ของไทย อาจขยับสูงขึ้นไปอยู่ในกรอบประมาณ 88-90% ต่อ GDP ณ สิ้นปี 2563 (ในขณะที่ปัจจุบันตัวเลขดังกล่าวของประเทศอินโดนีเซียและฟิลิปปินส์ซึ่งเป็นเพื่อนบ้านในอาเซียนของเราอยู่ที่ประมาณ 10%ต้นๆเท่านั้น ภาพที่ 6)
ซึ่งนับเป็นระดับสูงที่สุดในรอบ 18 ปี (ข้อมูล ธปท. ย้อนหลังถึงปี 2546) ซึ่งส่วนหนึ่งสะท้อนว่า ภาคครัวเรือนกำลังรับมือกับปัญหาการหดตัวของรายได้ ซึ่งเร็วกว่าการชะลอตัวของการกู้ยืม ตอกย้ำปัญหาเชิงโครงสร้างที่ไทยกำลังเผชิญ โดยเฉพาะท่ามกลางแนวโน้มเศรษฐกิจที่ยังมีความไม่แน่นอนสูงในระยะ 1-2 ปี ข้างหน้านี้
โดยหนี้สินครัวเรือนไทยส่วนใหญ่มาจาก หนี้บัตรเครดิต หนี้สินเชื่อส่วนบุคคล หนี้สินเชื่อที่อยู่อาศัย หนี้ผ่อนรถยนต์ และผลกระทบจากปัญหาเศรษฐกิจ รวมทั้งการขาดสภาพคล่อง ตามภาพที่ 7 และการขยายตัวของหนี้ครัวเรือนแยกตามประเภทสินเชื่อ และประเภทของสถาบันการเงิน ตามภาพที่ 8



สาเหตุข้อที่ 3 ประเทศไทยเป็นหนึ่งในประเทศที่มีความแตกต่างของความมั่งคั่งระหว่างคนรวยและคนจนว่างมากที่สุดประเทศหนึ่งในโลก โดยประชากร 1% ที่รวยที่สุดของประเทศ ครอบครองความมั่งคั่งถึง 66.9% ของความมั่งคั่งทั้งประเทศ
ตามภาพที่ 9 ถ้าเปรียบเทียบความไม่สมดุลของความมั่งคั่งทั้งอาเซียน ประเทศไทยถูกจัดเป็นอันดับที่ 1 ของอาเซียน โดยมีคะแนนอยู่ที่ 90.2 และจัดเป็นอันดับที่ 4 ของโลกในปี 2018 ตามภาพที่ 10 และ 11 และจากบทรายงานล่าสุดของเครดิตสวิส
ประชากรไทยที่อยู่ฐานล่างสุด 10% ครอบครองความมั่งคั่งเพียง 0% ของความมั่งคั่งของประเทศ และประชากรไทยฐานล่างสุดขึ้นมา 50% ครอบครองความมั่งคั่งเพียง 1.7% ของความมั่งคั่งของประเทศ ในขณะที่ ประชากรไทย 10% ที่รวยที่สุดในประเทศ ครอบครองความมั่งคั่งถึง 85.7% และช่องว่างระหว่างคนรวยและคนจนถ่างกว้างมากขึ้นเรื่อยๆในสมัยพลเอกประยุทธ์




สาเหตุข้อที่ 4 การเติบโตของ GDP ประเทศไทยในช่วงสมัยรัฐบาลประยุทธ์ โตต่ำที่สุดเมื่อเทียบกับ 3 รัฐบาล โดยมีรายละเอียดดังนี้
GDP ช่วงสมัยรัฐบาลทักษิณ อยู่ที่ระหว่าง 3.44 ถึง 7.19% 6 ปี (2001-2006) เฉลี่ยอยู่ที่ 5.37%
GDP ช่วงสมัยรัฐบาลอภิสิทธิ์ อยู่ที่ระหว่าง -0.69 ถึง 7.51% 4 ปี (2008-2011) เฉลี่ยอยู่ที่ 2.35%
GDP ช่วงสมัยรัฐบาลยิ่งลักษณ์ อยู่ที่ระหว่าง 0.84 ถึง 7.24% 4 ปี (2011-2014) เฉลี่ยอยู่ที่ 2.94%
GDP ช่วงสมัยรัฐบาลประยุทธ์ อยู่ที่ระหว่าง -6.66(EXP) ถึง 4.13% 7 ปี (2014-2020) เฉลี่ยอยู่ที่ 1.62%
สาเหตุข้อที่ 5 การเพิ่มขึ้นของดัชนีตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย(SET INDEX) ตามภาพที่ 13 ในช่วง 4 รัฐบาล มีรายละเอียดดังนี้
SET INDEX ช่วงสมัยรัฐบาลทักษิณ (9/2/2001-19/9/2006) อยู่ที่ระหว่าง 327.51-702.56 ขึ้นมาเฉลี่ย 20.51%/ปี
SET INDEX ช่วงสมัยรัฐบาลอภิสิทธิ์ (17/12/2008-5/8/2011) อยู่ที่ระหว่าง 445.31-1,093.38 ขึ้นมาเฉลี่ย 52.92%/ปี
SET INDEX ช่วงสมัยรัฐบาลยิ่งลักษณ์ (5/8/2011-7/5/2014) อยู่ที่ระหว่าง 1,124.01-1,402.61 ขึ้นมาเฉลี่ย 9.01%/ปี
SET INDEX ช่วงสมัยรัฐบาลประยุทธ์ (24/8/2014-21/10/2020) อยู่ที่ระหว่าง 1,556.97-1,216.43 ลดลงเฉลี่ย 3.55%/ปี
จะเห็นได้ว่า SET INDEX ขึ้นเฉลี่ยสูงสุดในสมัยรัฐบาลอภิสิทธิ์ ขณะที่แย่ที่สุดสมัยรัฐบาลประยุทธ์ ซึ่งเป็นรัฐบาลเดียวใน 4 รัฐบาลที่ SET INDEX ลดลง

จาก 5 สาเหตุที่กล่าวมาข้างต้น น่าจะเป็นสาเหตุหลักๆที่ประชาชนออกมาชุมนุม เพื่อเรียกร้องให้พลเอกประยุทธ์ลาออก นอกเหนือจากเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญที่ไม่เป็นธรรม และการสืบทอดอำนาจ